มารยาทใช้งานและการรับชมภาพยนต์ในโรงหนังร่วมกัน

โรงภาพยนตร์ถือเป็นสถานที่สำหรับการพักผ่อนรับชมภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงสำหรับทุกคน ในเมื่อนี่คือสถานที่ส่วนรวมผู้ที่เข้ามาใช้บริการก็จำเป็นต้องรู้จักกับมารยาทอันเหมาะสมด้วยเช่นกัน แม้มันไม่ใช่กฎระเบียบตายตัวว่าควรหรือไม่ควรกระทำแต่คำว่ามารยาทก็เป็นคำที่ทุกคนพึงเข้าใจในรายละเอียดพื้นฐานเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมนั่นเอง จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตแต่การทำผิดมารยาทในการใช้โรงภาพยนตร์ร่วมกับผู้อื่นถือเป็นสิ่งน่าละอายอย่างยิ่ง

มารยาทง่ายๆ กับการใช้โรงภาพยนตร์ร่วมกับผู้อื่น

  1. ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดไม่ว่าประเภทใดก็ตาม – นี่ถือเป็นมารยาทขั้นพื้นฐานที่ทุกๆ คนต้องรู้และคิดว่าก็น่าจะรู้กันอยู่แล้วสำหรับเครื่องมือสื่อสารทุกประเภทที่อาจมีเสียงเกิดขึ้นได้ระหว่างการรับชมภาพยนตร์ในโรง ไม่ใช่แค่การเปิดสั่นหรือระบบเงียบเท่านั้นแต่ควรปิดเครื่องไปเลยเพราะการใช้ระบบสั่นหรือระบบเงียบแต่แสงจากหน้าจอมือถือก็ยังสว่างจนก่อให้เกิดความรำคาญสายตาของผู้อื่นอย่างมาก และแน่นอนเมื่อมีการปิดมือถือก็ไม่ควรมีการคุยมือถือเกิดขึ้น
  2. ไม่คุยกันเสียงดังจนรบกวนผู้อื่น – การพูดคุยในโรงหนังจริงๆ ก็ไม่สมควรทำทว่าหากเป็นการพูดคุยกันเบาๆ ไม่ได้รบกวนสมาธิการรับชมของผู้อื่นมันก็คงไม่ได้เป็นปัญหาอะไรมากนัก แต่การพูดคุยจนคนอื่นที่นั่งอยู่ด้วยได้ยินจนเกิดความรำคาญสิ่งนี้ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง
  3. อย่าใช้เท้าเตะเบาะคนหน้าหรือเอนหลังจนชิดคนด้านหลัง – มารยาทอย่างหนึ่งของการชมภาพยนตร์ในโรงก็คือไม่ควรใช้เท้าเตะเบาะด้านหน้า เอาเท้าพิงเบาะหน้า หรือยืดเอนเบาะไปด้านหลังจนชิดคนข้างหลัง เพราะมันเป็นการรบกวนพื้นที่ต่อผู้อื่นอย่างมาก
  4. เลือกประเภทภาพยนตร์ให้เหมาะสมกับการนำเด็กเข้าไปรับชมด้วย – เข้าใจว่าการเป็นเด็กพ่อแม่ก็อยากพาลูกมาเที่ยวดูภาพยนตร์บ้างแต่การจะพาเด็กเข้ามาควรเลือกภาพยนตร์ให้เหมาะสม เป็นการ์ตูนหรือภาพยนตร์สำหรับเด็กอันนี้เข้าใจได้ว่าต้องพาเด็กมาดู แต่ถ้าเป็นภาพยนตร์ผู้ใหญ่แล้วพาเด็กขึ้นมา หากเด็กงอแงร้องไห้ถือเป็นการรบวนผู้อื่นอย่างมาก
  5. ไม่ควรถอดรองเท้า – ยิ่งกรณีของคนใส่รองเท้าหุ้มส้นต่างๆ ไม่ควรถอดรองเท้าเด็ดขาดเนื่องจากกลิ่นเท้าอาจกระจายออกไปยังคนรอบข้างจนเกิดความรู้สึกอึดอัดกับกลิ่นดังกล่าวก็เป็นได้เหมือนกัน
  6. ควรเข้าให้ทันเวลาฉาย – การเดินมาทีหลังระหว่างที่ภาพยนตร์ฉายไปแล้วและแทรกตัวมานั่งยังที่นั่งตนเองเป็นการรบกวนสมาธิและบดบังการรับชมของผู้อื่นอย่างมาก จึงควรดูเวลาเข้าโรงให้เหมาะสมอย่างน้อยทันกับเวลาฉายพอดี